วันจันทร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

จุดเริ่มต้นในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของประเทศไทย

จากการค้นคว้าและเปรียบเทียบความเห็นหลายๆด้านเกี่ยวกับจุดเริ่มต้นในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของประเทศไทยว่าควรจะเริ่มต้นจากที่ใด? ผู้เขียนมีความเห็นว่าแผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ (พ.ศ.2545-2559) มีทิศทางการพัฒนาคุณภาพการศึกษาที่ครอบคลุมระบบการศึกษาไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากเล็งเห็นว่าการพัฒนาคุณภาพการศึกษาจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือและความรับผิดชอบในการดำเนินการของสถาบัน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกระดับ ในฐานะที่การศึกษาเป็นเรื่องของทุกคน ทุกภาคส่วน และทุกคน ดังนั้นทุกภาคส่วนควรมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา โดยกำหนดบทบาทขององค์กรและสถาบันต่างๆ ดังนี้

1.ครอบครัว
ในฐานะที่ครอบครัวเปรียบเสมือนเป็น “ครูคนแรก” และเป็นแบบอย่างที่ดีแก่บุตรหลาน เด็ก และเยาวชน จึงควรน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิต หาความรู้ และเพิ่มพูนทักษะในการอบรมเลี้ยงดูบุตรหลาน ปลูกฝังนิสัยใฝ่รู้ รักการอ่าน และตระหนักในความสำคัญของการเรียนรู้แก่บุตรหลานทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต รวมทั้งสนับสนุน ส่งเสริมและมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา เพื่อให้การศึกษาเข้าถึงและตอบสนองความต้องการของบุตรหลานอย่างมีคุณภาพและเต็มศักยภาพ
2.สถานศึกษา
ศึกษา ทำความเข้าใจ และจัดทำแผนกลยุทธ์ของสถานศึกษาที่สอดคล้องกับกรอบทิศทางการพัฒนาการศึกษาตามแผนการศึกษาแห่งชาติ พัฒนากระบวนการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยค้นหาศักยภาพเด็กและพัฒนาให้สอดรับกับความสามารถและความถนัด ขณะเดียวกันต้องให้การช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาส พิการ ให้ได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง ปลูกฝังและส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมให้เกิดแก่ผู้เรียน เยาวชน และประชาชนอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต พัฒนาและจัดการเรียนการสอนที่มุ่งให้เด็กและเยาวชนมีความรู้ มีทักษะพื้นฐานเข้มแข็ง ส่งเสริมและพัฒนาครู บุคลากรทางการศึกษาให้มีวิสัยทัศน์ ความรู้ ความสามารถ และทักษะในการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ บริหารสถานศึกษาโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน คำนึงถึงการมีส่วนร่วมของกรรมการสถานศึกษา ผู้ปกครอง ชุมชน สถาบันศาสนา และทุกภาคส่วนของสังคม รวมทั้งระดมทรัพยากรและสรรพกำลังทางการศึกษาที่มีอยู่ในท้องถิ่น
3.เขตพื้นที่การศึกษา
จัดทำแผนกลยุทธ์ภายใต้กรอบทิศทางการพัฒนาการศึกษาตามแผนการศึกษาแห่งชาติ ส่งเสริมสนับสนุนความเป็นอิสระของสถานศึกษาในการบริหารจัดการตนเองตามหลักการบริหารโดยใช้สถานศึกษาเป็นฐาน ติดตามและประเมินผลการดำเนินงานของหน่วยงานการศึกษาให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถานศึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ค้นหาและให้การช่วยเหลือเด็กและเยาวชนด้อยโอกาส พิการ ให้ได้รับบริการการศึกษาอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน
4.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
จัดทำแผนกลยุทธ์/แผนพัฒนาการจัดการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นภายใต้กรอบทิศทางการพัฒนาการศึกษาตามแผนการศึกษาแห่งชาติ ส่งเสริม สนับสนุนและมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของสถานศึกษาของรัฐ เอกชน และองค์กรต่างๆที่มีอยู่ในท้องถิ่น ทั้งด้านบุคลากร วิชาการ งบประมาณ อาคารสถานที่ และวัสดุครุภัณฑ์ รวมทั้งร่วมกับเขตพื้นที่การศึกษา สถานศึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ค้นหาและให้การช่วยเหลือเด็กและเยาวชนด้อยโอกาส พิการ ให้ได้รับบริการการศึกษาอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน
5.สถาบันทางสังคม (ได้แก่ องค์กรชุมชน องค์กรเอกชน สถาบันศาสนา โรงพยาบาล มูลนิธิฯลฯ)
จัดและให้ความตระหนัก สนับสนุนส่งเสริม และ/หรือมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของสถานศึกษา ให้ผู้เรียนและประชาชนมีความรู้ คุณธรรม มีความสามารถ และมีทักษะ ทั้งวิชาสามัญและอาชีพ ร่วมระดมสรรพกำลังเพื่อการศึกษาของหน่วยงาน สถานศึกษา ทั้งด้านภูมิปัญญา เงิน/งบประมาณ ฯลฯ ให้เกิดการนำนโยบายและแผนไปสู่การปฏิบัติ รวมทั้งร่วมกับเขตพื้นที่การศึกษา สถานศึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ค้นหาและให้การช่วยเหลือเด็กและเยาวชนด้อยโอกาส พิการ ให้ได้รับบริการการศึกษาอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน
6.ราชการในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค (ได้แก่ ส่วนราชการในกระทรวงศึกษาธิการ กรมอื่นที่จัดการศึกษา ฯลฯ)
จัดทำแผนพัฒนาการศึกษาตามภารกิจที่สอดคล้องกับกรอบทิศทางการพัฒนาการศึกษาตามแผนการศึกษาแห่งชาติ แผนการศึกษาแห่งชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบายของรัฐ กฎหมายการศึกษา และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จัดทำข้อเสนอนโยบาย สนับสนุนทรัพยากรเพื่อการศึกษาให้เพียงพอ ติดตาม และประเมินผลการดำเนินงานตามกรอบทิศทางการพัฒนาการศึกษาในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่10 (พ.ศ.2550-2554) ที่สอดคล้องกับแผนการศึกษาแห่งชาติ (พ.ศ.2545-2559) รวมทั้งเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ทางการศึกษาอย่างทั่วถึง ให้ประชาชนเข้าถึงการศึกษาในทุกระดับ
7.สื่อมวลชน
กระตุ้น ส่งเสริม เผยแพร่ และประชาสัมพันธ์การศึกษาให้เข้าถึงประชาชนทุกระดับให้เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต ผลิตและพัฒนาสาระรายการและสื่อการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ เหมาะสมกับประชาชนตามช่วงวัย โดยตระหนักและคำนึงถึงความรู้ วิถีชีวิต คุณธรรม จริยธรรม ประเพณี วัฒนธรรม ค่านิยม วิถีประชาธิปไตยภายใต้การปกครองที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข รวมทั้งสนับสนุน ส่งเสริม และเปิดโอกาสให้สถาบัน/หน่วยงานการศึกษา ครู คณาจารย์ บุคลากรทางการศึกษา และผู้เรียนได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การศึกษาให้เข้าถึงประชาชนทุกกลุ่ม เพศ วัย และระดับ


ที่มา: สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ. "กรอบทิศทางการพัฒนาการศึกษาในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่10 (พ.ศ.2550-2554) ที่สอดคล้องกับแผนการศึกษาแห่งชาติ (พ.ศ.2545-2559): ฉบับสรุป". (กรุงเทพฯ,สำนักนโยบายและแผนการศึกษา สกศ., 2551). หน้า50-54.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น