วันศุกร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

หัวข้อวิจัยที่สนใจ

การพัฒนารูปแบบการสอนเสริมโดยใช้สื่อ eDLTV (Electronics Distance Learning Television) เป็นสื่อในการเรียนการสอนเพื่อให้นักศึกษาพยาบาลในสังกัดสถาบันพระบรมราชชนกสามารถสอบผ่านเกณฑ์มาตรฐานของสภาการพยาบาลได้

วันจันทร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

จุดเริ่มต้นในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของประเทศไทย

จากการค้นคว้าและเปรียบเทียบความเห็นหลายๆด้านเกี่ยวกับจุดเริ่มต้นในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของประเทศไทยว่าควรจะเริ่มต้นจากที่ใด? ผู้เขียนมีความเห็นว่าแผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ (พ.ศ.2545-2559) มีทิศทางการพัฒนาคุณภาพการศึกษาที่ครอบคลุมระบบการศึกษาไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากเล็งเห็นว่าการพัฒนาคุณภาพการศึกษาจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือและความรับผิดชอบในการดำเนินการของสถาบัน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกระดับ ในฐานะที่การศึกษาเป็นเรื่องของทุกคน ทุกภาคส่วน และทุกคน ดังนั้นทุกภาคส่วนควรมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา โดยกำหนดบทบาทขององค์กรและสถาบันต่างๆ ดังนี้

1.ครอบครัว
ในฐานะที่ครอบครัวเปรียบเสมือนเป็น “ครูคนแรก” และเป็นแบบอย่างที่ดีแก่บุตรหลาน เด็ก และเยาวชน จึงควรน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิต หาความรู้ และเพิ่มพูนทักษะในการอบรมเลี้ยงดูบุตรหลาน ปลูกฝังนิสัยใฝ่รู้ รักการอ่าน และตระหนักในความสำคัญของการเรียนรู้แก่บุตรหลานทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต รวมทั้งสนับสนุน ส่งเสริมและมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา เพื่อให้การศึกษาเข้าถึงและตอบสนองความต้องการของบุตรหลานอย่างมีคุณภาพและเต็มศักยภาพ
2.สถานศึกษา
ศึกษา ทำความเข้าใจ และจัดทำแผนกลยุทธ์ของสถานศึกษาที่สอดคล้องกับกรอบทิศทางการพัฒนาการศึกษาตามแผนการศึกษาแห่งชาติ พัฒนากระบวนการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยค้นหาศักยภาพเด็กและพัฒนาให้สอดรับกับความสามารถและความถนัด ขณะเดียวกันต้องให้การช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาส พิการ ให้ได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง ปลูกฝังและส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมให้เกิดแก่ผู้เรียน เยาวชน และประชาชนอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต พัฒนาและจัดการเรียนการสอนที่มุ่งให้เด็กและเยาวชนมีความรู้ มีทักษะพื้นฐานเข้มแข็ง ส่งเสริมและพัฒนาครู บุคลากรทางการศึกษาให้มีวิสัยทัศน์ ความรู้ ความสามารถ และทักษะในการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ บริหารสถานศึกษาโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน คำนึงถึงการมีส่วนร่วมของกรรมการสถานศึกษา ผู้ปกครอง ชุมชน สถาบันศาสนา และทุกภาคส่วนของสังคม รวมทั้งระดมทรัพยากรและสรรพกำลังทางการศึกษาที่มีอยู่ในท้องถิ่น
3.เขตพื้นที่การศึกษา
จัดทำแผนกลยุทธ์ภายใต้กรอบทิศทางการพัฒนาการศึกษาตามแผนการศึกษาแห่งชาติ ส่งเสริมสนับสนุนความเป็นอิสระของสถานศึกษาในการบริหารจัดการตนเองตามหลักการบริหารโดยใช้สถานศึกษาเป็นฐาน ติดตามและประเมินผลการดำเนินงานของหน่วยงานการศึกษาให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถานศึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ค้นหาและให้การช่วยเหลือเด็กและเยาวชนด้อยโอกาส พิการ ให้ได้รับบริการการศึกษาอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน
4.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
จัดทำแผนกลยุทธ์/แผนพัฒนาการจัดการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นภายใต้กรอบทิศทางการพัฒนาการศึกษาตามแผนการศึกษาแห่งชาติ ส่งเสริม สนับสนุนและมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของสถานศึกษาของรัฐ เอกชน และองค์กรต่างๆที่มีอยู่ในท้องถิ่น ทั้งด้านบุคลากร วิชาการ งบประมาณ อาคารสถานที่ และวัสดุครุภัณฑ์ รวมทั้งร่วมกับเขตพื้นที่การศึกษา สถานศึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ค้นหาและให้การช่วยเหลือเด็กและเยาวชนด้อยโอกาส พิการ ให้ได้รับบริการการศึกษาอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน
5.สถาบันทางสังคม (ได้แก่ องค์กรชุมชน องค์กรเอกชน สถาบันศาสนา โรงพยาบาล มูลนิธิฯลฯ)
จัดและให้ความตระหนัก สนับสนุนส่งเสริม และ/หรือมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของสถานศึกษา ให้ผู้เรียนและประชาชนมีความรู้ คุณธรรม มีความสามารถ และมีทักษะ ทั้งวิชาสามัญและอาชีพ ร่วมระดมสรรพกำลังเพื่อการศึกษาของหน่วยงาน สถานศึกษา ทั้งด้านภูมิปัญญา เงิน/งบประมาณ ฯลฯ ให้เกิดการนำนโยบายและแผนไปสู่การปฏิบัติ รวมทั้งร่วมกับเขตพื้นที่การศึกษา สถานศึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ค้นหาและให้การช่วยเหลือเด็กและเยาวชนด้อยโอกาส พิการ ให้ได้รับบริการการศึกษาอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน
6.ราชการในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค (ได้แก่ ส่วนราชการในกระทรวงศึกษาธิการ กรมอื่นที่จัดการศึกษา ฯลฯ)
จัดทำแผนพัฒนาการศึกษาตามภารกิจที่สอดคล้องกับกรอบทิศทางการพัฒนาการศึกษาตามแผนการศึกษาแห่งชาติ แผนการศึกษาแห่งชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบายของรัฐ กฎหมายการศึกษา และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จัดทำข้อเสนอนโยบาย สนับสนุนทรัพยากรเพื่อการศึกษาให้เพียงพอ ติดตาม และประเมินผลการดำเนินงานตามกรอบทิศทางการพัฒนาการศึกษาในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่10 (พ.ศ.2550-2554) ที่สอดคล้องกับแผนการศึกษาแห่งชาติ (พ.ศ.2545-2559) รวมทั้งเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ทางการศึกษาอย่างทั่วถึง ให้ประชาชนเข้าถึงการศึกษาในทุกระดับ
7.สื่อมวลชน
กระตุ้น ส่งเสริม เผยแพร่ และประชาสัมพันธ์การศึกษาให้เข้าถึงประชาชนทุกระดับให้เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต ผลิตและพัฒนาสาระรายการและสื่อการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ เหมาะสมกับประชาชนตามช่วงวัย โดยตระหนักและคำนึงถึงความรู้ วิถีชีวิต คุณธรรม จริยธรรม ประเพณี วัฒนธรรม ค่านิยม วิถีประชาธิปไตยภายใต้การปกครองที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข รวมทั้งสนับสนุน ส่งเสริม และเปิดโอกาสให้สถาบัน/หน่วยงานการศึกษา ครู คณาจารย์ บุคลากรทางการศึกษา และผู้เรียนได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การศึกษาให้เข้าถึงประชาชนทุกกลุ่ม เพศ วัย และระดับ


ที่มา: สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ. "กรอบทิศทางการพัฒนาการศึกษาในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่10 (พ.ศ.2550-2554) ที่สอดคล้องกับแผนการศึกษาแห่งชาติ (พ.ศ.2545-2559): ฉบับสรุป". (กรุงเทพฯ,สำนักนโยบายและแผนการศึกษา สกศ., 2551). หน้า50-54.

วันอังคารที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ญาณวิทยา (Epistemology)

ญาณวิทยา หรือเรียกอีกอย่างว่า "ทฤษฎีความรู้" (Theory of Knowledge)
บัญญัติขึ้นเพื่อใช้เป็นคำแปลของคำภาษาอังกฤษว่า Epistemology ซึ่งมาจากภาษากรีกว่า Episteme (ความรู้) และ Logos (วิชา) ซึ่งมีความหมายว่า ทฤษฎีแห่งความรู้

ญาณวิทยาจะอธิบายถึงปัญหาเกี่ยวกับที่มาของความรู้ แหล่งเิกิดของความรู้ ธรรมชาติของความรู้ และเหตุแห่งความรู้ที่แท้จริง โดยมุ่งเน้นในเรื่องปัญหาของความรู้ว่า "มนุษย์รู้ได้อย่างไรว่าอะไรเป็นความแท้จริง" "มนุษย์มีความรู้ได้อย่างไร" "เราแน่ใจได้อย่างไรว่าความรู้ต่างๆเป็นจริง ไม่ผิดพลาด" เป็นต้น เมื่อได้คำตอบหรือความรู้เรื่องหนึ่งแล้ว ปรัชญาสาขานี้ก็ไม่ได้จบลงแค่นั้น แต่ยังย้อนกลับไปตามขั้นตอนต่างๆ เพื่อหาหนทางที่กระจ่างขึ้น เพื่อที่จะพากลับไปยังจุดเริ่มต้นของปัญหาใหม่ อย่างน้อยจะสามารถชี้ได้ว่าคุณลักษณะของความรู้ (Characteristic of knowledge) คืออะไร และความเที่ยงตรงของความรู้นั้นจะตรวจสอบได้อย่างไร

ดังนั้น ครูจึงต้องมีความคิดเกี่ยวกับความรู้ไว้เป็นการล่วงหน้าว่า "ความรู้ใด ความรู้อะไรที่มีคุณค่า" เพราะความรู้เป็นทุนสำคัญของ นักการศึกษา และครูก็อยู่ในฐานะของนักการศึกษาด้วย จึงจำเป็นต้องมีความรู้ ความฉลาด และปัญญา เพื่อพัฒนานักเรียนของตน ถึงแม้ว่าครูจะมีบุคลิกภาพดี ปละมีสติอารมณ์มั่นคง แต่ครูก็ยังต้องมีความรู้ที่เชื่อถือได้ด้วย ดังนั้น จึงจำเป็นที่ครูจะต้องมีความคิดทางปรัชญาว่า ความรู้ที่ดีที่สุดที่ทำให้เกิดประโยชน์กับนักเรียนคืออะไร กิจกรรมอะไรบ้างที่เกี่ยวข้องเพื่อทำให้เกิดความรู้ดังกล่าว อะไรคือความแตกต่างระหว่างการเรียนรู้ (Knowledge) กับการเชื่อ (Believing) เราจะสามารถรู้อะไรได้บ้างจากความรู้สึก (sense) ที่เรามี อะไรคือความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับการกระทำของความรู้ต่อสิ่งที่จะได้เรียนรู้ และเราจะแสดงความรู้ว่าเป็นจริงได้อย่างไร เพราะฉะนั้นประโยชน์ที่ครูจะได้รับจากญาณวิทยาคือ "ทำให้ครูมองเห็นความแตกต่างของความรู้ประเภทต่างๆได้"

วันศุกร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2553

อภิปรัชญา (Metaphysics)

อภิปรัชญา มาจากศัพท์ว่า อภิ+ปรัชญา..."อภิ" หมายถึง ภาวะที่สูงสุด ใหญ่สุด "ปรัชญา" หมายถึง ความรู้หรือดวงปัญญา อภิปรัชญา เป็นศัพท์บัญญัติของคำว่า Metaphysics หมายถึงศาสตร์ที่ว่าด้วยความแท้จริง หรือสารัตถะ (Reality Essence) มีปรัชญาอีกสาขาหนึ่งที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับ Metaphysics คือ Ontology แปลว่า ภววิทยา ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยความมี (being)

ศาสตร์ทั้งสองนี้มีความเกี่ยวข้องกันเพราะว่า Metaphysics คือศาสตร์ที่ว่าด้วยความแท้จริงหรือสารัตถะว่ามีจริงหรือไม่ Ontology ก็ศึกษาเรื่องความมีอยู่ของความแท้จริงหรือสารัตถะนั้นเป็นจริงอย่างไร โดยทั่วไปถือว่าศาสตร์ทั้งสองนี้ศึกษาเรื่องเดียวกัน คือ ความมีอยู่ของความแท้จริงหรือความแท้จริงที่มีอยู่ เพราะฉะนั้นจึงถือว่าศาสตร์ทั้งสองเป็นเรื่องเดียวกัน อภิปรัชญาเป็นการศึกษาปรัชญาที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่อยู่นอกเหนือจากการเห็นทั่วๆไป หรือความรู้ที่อยู่นอกเหนือการรู้เห็นใดๆ แต่สามารถรู้และเข้าใจด้วยเหตุผล

เป้าหมายของเทคโนโลยีการศึกษา

1.การขยายพิสัยของทรัพยากรการเรียนรู้ กล่าวคือ แหล่งทรัพยากรการเรียนรู้ มิได้หมายถึงแต่เพียงตำรา ครู และอุปกรณ์การสอนที่โรงเรียนมีอยู่เท่านั้น แนวคิดทางเทคโนโลยีทางการศึกษาต้องการให้ผู้เรียนมีโอกาสเรียนจากแหล่งความรู้ที่กว้างขวางออกไปอีก แหล่งทรัพยากรการเรียนรู้ครอบคลุมถึงเรื่องต่างๆ เช่น
1.1คน เป็นแหล่งทรัพยากรการเรียนรู้ที่สำคัญ ซึ่งได้แก่ ครูและวิทยากรอื่นซึ่งอยู่นอกโรงเรียน เช่น เกษตรกร ตำรวจ บุรุษไปรษณีย์ เป็นต้น
1.2วัสดุและเครื่องมือ ได้แก่ โสตทัศนวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ เช่น ภาพยนตร์ วิทยุ โทรทัศน์ เครื่องวิดีโอเทปของจริง ของจำลองสิ่งพิมพ์ รวมไปถึงการใช้สื่อมวลชนต่างๆ
1.3เทคนิค-วิธีการ แต่เดิมนั้นการเรียนการสอนส่วนมากใช้วิธีให้ครูเป็นคนบอกเนื้อหาแก่ผู้เรียน ปัจจุบันนั้นเปิดโอกาสให้ผู้เรียนไ้ด้ศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองไ้ด้มากที่สุด ครูเป็นเพียงผู้วางแผนแนะแนวทางเท่านั้น
1.4สถานที่ ได้แก่ โรงเรียน ห้องปฏิบัติการทดลอง โรงฝึกงาน ไร่นา ฟาร์ม ที่ทำการรัฐบาล ภูเขา แม่น้ำ ทะเล หรือสถานที่ใดๆที่ช่วยเพิ่มประสบการณ์ที่ดีแก่ผู้เรียนได้

2.เน้นการเรียนรู้แบบเอกัตบุคคล ถึงแม้นักเรียนจะล้นชัั้นและกระจัดกระจายยากแก่การจัดการศึกษาตามความแตกต่างระหว่างบุคคลได้ นักการศึกษาและนักจิตวิทยาได้พยายามคิดหาวิธีนำเอาระบบการเรียนแบบตัวต่อตัวมาใช้ แต่แทนที่จะใช้ครูสอนนักเรียนทีละคนเขาก็คิด "แบบเรียนโปรแกรม" ซึ่งทำหน้าที่สอนเหมือนกับครูมาสอนนักเรียนด้วยตัวเอง จากแบบเรียนด้วยตนเองในรูปแบบเรียนเป็นเล่ม หรือเครื่องสอน หรือสื่อประสมหลายๆอย่าง จะช้าหรือเร้วก็ทำได้ตามความสามรถของผู้เรียนแต่ละคน

3.การใช้วิธีวิเคราะห์ระบบการศึกษา การใช้วิธีระบบในการปฏิบัติหรือแก้ปัญหา เป็นวิธีการที่เป็นวิทยาศาสตร์ที่เชื่อถือได้ว่าจะสามารถแก้ปัญหา หรือช่วยให้งานบรรลุเป้าหมายได้ เนื่องจากกระบวนการของวิธีระบบเป็นการวิเคราะห์องค์ประกอบของงานหรือของระบบอย่างมีเหตุผล หาทางให้ส่วนต่างๆของระบบทำงานประสานสัมพันธ์กันอย่างมีประสิทธิภาพ

4.พัฒนาเครื่องมือ-วัสดุอุปกรณ์ทางการศึกษา วัสดุและเครื่องมือต่างๆที่ใช้ในการศึกษาหรือการเรียนการสอน ปัจจุบันจะต้องมีการพัฒนาให้มีศักยภาพหรือขีดความสามารถในการทำงานให้สูงยิ่งขึ้นไปอีก

Technology in Education and Technology of Education

Technology in Education (หรือ Tools technology) หมายถึง วิธีการต่างๆ ที่นำมาใช้ในการนำเสนอเนื้อหาสาระทางการศึกษาหรือการฝึกอบรม ได้แก่ โทรทัศน์ ห้องปฏิบัติการภาษา เครื่องฉายประเภทต่างๆหรือที่เรียกว่าสื่อการสอน

Technology of Education (หรือ System technology) หมายถึง การนำเครื่องมือหรืออุปกรณ์ต่างๆรวมทั้งวัสดุและวิธีการมาผสมผสานกัน เพื่อมุ่งไปสู่การพัฒนากระบวนการจัดการศึกษาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สาขาวิชานี้ได้กล่าวถึงการนำเครื่องมือหรืออุปกรณ์ต่างๆ รวมทั้งบรรดาวัสดุ และวิธีการมาผสมผสานกัน เพื่อมุ่งไปสู่การพัฒนากระบวนการจัดการศึกษาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งแนวความคิดดังกล่าวมีจุดประสงค์หลายประการด้วยกัน เช่น เพื่อเพิ่มพูนคุณภาพของการเรียนและผลสัมฤทธิ์ของการเรียนรู้ ลดเวลาที่ใช้ในการเรียนรู้ให้น้อยลง เพื่อประสิทธิภาพของผู้สอนให้มีความสามารถต่อการสอนผู้เรียนที่มีปริมาณมากขึ้น โดยที่ไม่ทำให้การเรียนรู้ด้อยคุณภาพลง รวมทั้งลดค่าใช้จ่ายให้น้อยลง โดยไม่กระทบกระเทือนคุณภาพของการเรียน

ดังนั้น Technology in Education และ Technology of Education จึงเป็นส่วนหนึ่งของเทคโนโลยีทางการศึกษา (Educational Technology) ซึ่งหมายถึง การนำความรู้ แนวคิด กระบวนการผลผลิตทางวิทยาศาสตร์มาใช้ร่วมกันอย่างมีระบบ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาการศึกษาให้ก้าวหน้าไปอย่างมีประสิทธิภาพ